การเชื่อว่าตัวตนเป็นของตน ที่มีมาแต่กำเนิดโดยไม่รู้ตัว อีกทั้งเพราะว่า สามารถกระทำ(กรรม)ต่างๆ ทางกาย วาจา ใจ ต่างๆได้ดังประสงค์ ดังนั้นจึงแอบเกิดหลงเข้าใจไปโดยไม่รู้ตัวว่า ชีวิตจึงย่อมเป็นของเรา เป็นของตัวตน หรืออยู่ในอำนาจตน, แต่แท้จริงเป็นเพียงสังขารขันธ์ ที่ไปปรุงแต่งจิตให้เกิดสัญเจตนาให้เกิดการกระทำ อนึ่งพึงระลึกเข้าใจด้วยว่า ความเชื่อ,ความคิดเห็นในเรื่องอัตตาดังนี้ มีทั้งที่เกิดขึ้นและเป็นไปอย่างรู้ตัวด้วยเข้าใจผิด และเป็นไปในลักษณะนอนเนื่องอยู่ในจิต มีความเชื่อหรือทิฏฐินี้อยู่แต่ไม่รู้ตัว แต่พร้อมที่จะเกิดขึ้นมาหรือพลุ่งพล่านขึ้นมาซึมซ่านย้อมจิตเมื่อประสบกับอารมณ์ต่างๆ จึงเป็นไปในลักษณะเดียวหรืออันเดียวกับอาสวะกิเลสนั่นเอง จึงเป็นไปด้วยอวิชชาเช่นกัน คือ เกิดขึ้นและเป็นไปเช่นอาสวะกิเลสด้วยความไม่รู้ อีกด้วย
โยนิโสมนสิการหรือพิจารณาอัตตาในขันธ์ ๕ เพื่อละอัตตาในสักกายทิฏฐิ
สักกายทิฏฐิ คือ ความคิด ความเห็น ความเชื่อ ความเข้าใจว่า ร่างกาย, หรือว่าส่วนหนึ่งส่วนใดของขันธ์ ๕, หรือแม้แต่ชีวิตคือขันธ์ทั้ง ๕ ว่าเป็นบุคคล เรา เขา มาสร้างความรู้สึกว่าเป็นของเรา นี่ของเรา จัดเป็นสังโยชน์ข้อแรกของธรรมหรือสิ่งที่มัดสัตว์ไว้ให้อยู่กับกองทุกข์ ไม่ให้ดิ้นหลุดไปได้, ครานี้จึงเป็นการจำแนกแตกธรรมกันเรื่องอัตตา ที่มีสภาวะตรงข้ามหรือขัดแย้งหรือเป็นปฏิปักษ์กับอนัตตา ว่าอัตตามีความหมายเยี่ยงไรกันแน่ พระบรมศาสดาจึงกล่าวแย้งว่า ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา โดยเฉพาะจะกล่าวเน้นในสิ่งที่มีความเชื่อความเข้าใจความยึดถือใกล้ตัวที่สุด และรุนแรงที่สุด คือ ชีวิตหรือตัวตน หรือ ขันธ์ ๕ ที่ย่อมครอบคลุมแม้รูปขันธ์หรือกองร่างกายด้วย เพื่อการบรรเทาหรือลดละในสักกายทิฏฐิ
การพิจารณา
ควรอ่านพิจารณาเรื่องอัตตานี้ โดยแยบคาย เวลาพิจารณาต้องพิจารณาหลายๆครั้ง เนื่องจากความซับซ้อน ซ่อนเงื่อนไขด้วยมายาของจิต จึงหักมุม เพราะซ่อนความรู้ที่ตรงข้ามกับความคิดความเห็นเดิมๆ หรือความเข้าใจทั่วๆไปทางโลกที่มีอยู่เดิมๆแต่ไม่รู้ตัว จึงทำให้ถ้าแลดูเผินๆ ในข้อธรรมที่จักกล่าวต่อไปเหมือนไร้สาระไม่มีแก่นสาร หรือเหมือนดังน้ำท่วมทุ่ง ผักบุ้งโหรงเหรง, แต่กาลกลับไม่เป็นไปเช่นนั้นเพราะถ้าพิจารณโดยแยบคายหลายๆ ครั้ง ด้วยความเพียร ย่อมบังเกิดธรรมสามัคคีได้เป็นอัศจรรย์, จึงเป็นเรื่องที่พระองค์ท่านทรงตรัสสอนอยู่เนืองๆเป็นอเนกในพระไตรปิฏกว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ล้วนไม่ใช่ตัวตน จึงไม่ใช่ของตน ไม่ใช่เป็นตน ไม่ใช่อัตตาตัวตน
คำว่าอัตตา หรือ ตัวตน หรือ ของตน หรือ อาตมันในลัทธิพราหมณ์ ล้วนมีความหมายเดียวกัน เป็นลัทธิหรือสภาวะของความเชื่อความเข้าใจที่เกิดมาช้านาน หรือเป็นสภาวธรรมของมนุษย์อย่างหนึ่ง ที่เกิดขึ้นมา แต่อวิชชา ความไม่รู้ อันเนื่องมาจากความกลัว กลัวความสูญ หรือดับสูญไป อันเป็นสภาวธรรมหรือสัญชาตญาณของสัตว์ทั้งปวงประการหนึ่ง ตลอดจนการแฝงเข้ามาในขณะดำเนินชีวิต ซึ่งเกิดขึ้นและเป็นไปด้วยอวิชชาและโดยไม่รู้ตัว
ชมรมประสานงาน DOU
ตู้ ป.ณ. 69 ปณจ. คลองหลวง จ.ปทุมธานี 12120
โทร. 095-5191911
อีเมล์ : edu@dou.us
line ID : @dou-us
DOU Liaison Office (Thailand)
P.O.Box 69 Khlong Luang, Pathumthani,
12120 Thailand
contact Undergraduate School
Tel. +(66-9) 55191911